Manager Burnout เมื่อผู้นำหมดไฟ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อถึงวัยหนึ่ง ชีวิตการทำงานจะต้องพาเราไปเป็นผู้นำไม่ช้าก็เร็ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมรับมือกับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ อย่างไรก็ตามคุณดาวิด บัลลาร์ด (David Ballard) จาก American Psychological Association ได้ระบุว่าปัญหาที่ส่งผลเสียต่อคนที่เป็นผู้นำก็คือการคิดว่าความเครียดคือสิ่งที่ต้องอดทนตามหน้าที่ เพราะแม้มันจะแสดงถึงความจริงจังในการทำงาน แต่ก็ไม่มีงานใดหรอกที่ทุกคนควรทุ่มเทจนเสียสุขภาพจิต โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ควบคุมและบริหารภาพรวมของทีม

Manager Burnout ตรวจสอบได้อย่างไร

หากท่านกำลังอยู่ในตำแหน่งผู้นำและไม่แน่ใจว่าตนมีภาวะหมดไฟรวมถึงทำงานหนักเกินไปหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ด้วย 7 วิธีดังต่อไปนี้

  1. คุณมีอาการฉุนเฉียวง่ายขึ้น : การเป็นผู้นำที่ดีจะต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่มากเป็นพิเศษ แต่หากเราทำงานหนักเกินไป เราจะรู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิด อารมณ์เสีย และสนใจคนรอบตัวน้อยลง ทั้งนี้คุณเจสัน ลอว์ริทเซน (Jason Lauritsen) จากบริษัท Quantum Workplace กล่าวว่าการทำงานขณะที่หมดไฟก็เปรียบเสมือนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นใส่โทรศัพท์ที่ความจำเต็มไปเรียบร้อย ทางเดียวที่จะแก้ได้คือลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นบางส่วนออกไปเท่านั้น
  1. คุณหลงลืมเรื่องต่าง ๆ ง่ายขึ้น : เมื่อเราคิดหลาย ๆ อย่างพร้อมกันแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือเราไม่มีเวลาไปโฟกัสกับเรื่องยิบย่อยเท่าที่ควรจนค่อย ๆ หลงลืมรายละเอียดสำคัญไปทีละนิด ดร.จูลีย์ แอนเดอร์สัน จาก Oregon Health & Science University กล่าวว่าเมื่อเราทำงานมากเกินไปจนหมดไฟ ร่างกายจะสะสมความเครียดที่ทำให้เราปฏิเสธสิ่งรอบตัว ส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพในการจำ ดังนั้นหากเรารู้ตัวว่าเริ่มลืมในสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการทำงาน ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเราทำบางอย่างมากเกินไปแล้ว
  1. คุณเริ่มมาสายหรือส่งงานช้ากว่ากำหนด : หน้าที่สำคัญของผู้นำคือการทำงานให้เสร็จทันเดดไลน์ และแน่นอนว่าคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำก็ต้องรู้เรื่องนี้ดีไม่น้อยไปกว่าใคร ดังนั้นการที่จู่ ๆ เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็แปลว่าผู้นำอาจอยู่ในภาวะกดดันจนไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีเท่าเดิม
  1. เมื่อคุณสร้างกำลังใจให้ตัวเองด้วยสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น : ผู้นำหลายคนเมื่อเจอปัญหามักบอกกับตัวเองแบบปลอบใจว่าเมื่อลูกน้องเข้าใจงานมากขึ้นปัญหาก็คงจะคลี่คลายลง, เมื่อบริษัททำโครงการนั้น ๆ จบ ความเครียดก็คงหายไป หรือเมื่อพนักงานที่ไม่ชอบย้ายตำแหน่งไป บริษัทก็คงกลับมาสงบสุขอีกครั้ง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์จริงตรงหน้าได้อีกต่อไปจึงต้องหาบางอย่างมายึดเหนี่ยว ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะหากสิ่งที่รออยู่ไม่เกิดขึ้น ความเครียดก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ
  2. เมื่อคุณรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา : ให้จำไว้ว่าไม่มีงานใดที่เราควรรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา เป็นธรรมดาที่งานหนักจะทำให้อยากพักผ่อน แต่งานที่ดีจะมีแง่มุมให้เราได้พักใจหรือสนุกไปกับมันในอัตราที่เหมาะสม ดังนั้นหากเราเครียดตลอดเวลาและรู้สึกว่านอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ จนไม่อยากตื่นไปทำงาน ก็แปลว่าเราทำงานนี้มากจนจิตใต้สำนึกเริ่มต่อต้านมันเข้าแล้ว
  1. คุณป่วยบ่อยกว่าที่เคย : เมื่อเราเครียด เราก็จะโฟกัสไปที่การแก้ปัญหาหรือหนีปัญหาเป็นหลักโดยลืมสนใจองค์ประกอบที่สำคัญรอบตัวเช่นการดูแลตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าภาวะหมดไฟจะทำให้ร่างกายมีศักยภาพในการดึงตัวเองกลับมาสู่ครรลองที่เหมาะสมยากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากเรารู้ตัวว่าหมดไฟแต่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร ก็ควรเริ่มปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น เปลี่ยนมากินอาหารเพื่อสุขภาพ หรือรับการตรวจร่างกายอย่างจริงจังเป็นระยะ
  1. เมื่อคุณรู้สึกไม่รักงานนี้อีกแล้ว : เรื่องน่าเศร้าก็คือในวันนั้นงานของคุณอาจสำเร็จตามเป้าหมาย หรืออยู่ในจุดที่ใคร ๆ ก็บอกว่าบริษัทของคุณน่าอิจฉา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือใจของคุณกลับรู้สึกหมดไฟไปเรียบร้อย ซึ่งท้ายสุดแล้วหากไม่รีบแก้ไข ผลงานของเราก็จะตกต่ำลง ส่งผลเสียต่อทั้งองค์กรและหน้าที่การงานในภาพรวม

ปัจจุบันเป็นช่วงต่อยอดมาจากกระแส The Great Resignation อย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีสถิติรายงานว่าพนักงานถึง 48% พร้อมมองหางานใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น นั่นหมายความว่าการมีผู้นำหมดไฟถือเป็นอันตรายและองค์กรต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่เคย เพราะส่งผลต่อเสถียรภาพขององค์กรโดยตรง สวัสดิการและนโยบายที่ดีคือโจทย์สำคัญที่ผู้บริหารและ HR ต้องช่วยกันคิดเพื่อดึงดูดพนักงานใหม่ตลอดจนรักษาพนักงานเดิมให้คงอยู่กับองค์กรต่อไป แล้วหากเกิด Manager Burnout จะมีวิธีการแก้อย่างไร ติดตามได้ใน EP ต่อไป…

ที่มา https://th.hrnote.asia/personnel-management/220815-manager-burnout/

รูปภาพ https://www.pexels.com/

Related Posts