แนวคิดการจัดการความรู้แบบ Tuna model

ก่อนเราจะเริ่มอภิปรายถึง ทฤษฎีปลาทูน่าโมเดล เรามาเริ่มเรียงความรู้จาก การจัดความรู้ กันก่อน เพื่อให้เข้าใจได้ไวยิ่งขึ้น และสะดวกต่อการสรุปค่ะ!!

เริ่มแรก.. การจัดความรู้ หมายถึง การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กรซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคล หรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงได้ง่ายและพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้มีประสิทธิภาพ

โดยเราสามารถแบ่งประเภทของความรู้ได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. ความรู้ที่เด่นชัด ( Explicit Knowledge ) เป็นความรู้ที่อยู่ในรูปแบบของเอกสาร หรือวิชาการ
  2. ความรู้ซ่อนเร้น ( Tacit Knowledge ) เป็นความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวคน เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน หรือเป็นภูมิปัญญา
ทฤษฎีปลาทูน่าโมเดล

แนวคิดการจัดความรู้แบบ Tuna Model เป็นกรอบแนวคิดอย่างง่ายมีลักษณะที่ไม่สลับซับซ้อนมากนัก มีความเหมาะสมในการใช้เป็นแนวทางเพื่อดำเนินการในการจัดการความรู้

โดยให้การจัดการความรู้เปรียบเสมือนปลา ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนหัว ส่วนลำตัว และส่วนหาง แต่ละส่วนมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปดังต่อไปนี้

  1. ส่วนหัวและตา (Knowledge Vision – KV) คือการมองว่ากำลังจะไปทางไหน ซึ่งต้องตอบให้ได้ว่า “ทำ KM ไปเพื่ออะไร” หรือก็คือเป้าหมาย วิสัยทัศน์ ทิศทางของการจัดความรู้  กำหนดเส้นทางที่จะเดินไป แล้ววิเคราะห์หา จุดหมายว่าควรจะว่ายแบบไหนดี ไปในเส้นทางไหน ไปอย่างไร ต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร ความเป็นจริงของการจัดการความรู้ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นกระบวนการหรือกลยุทธ์ที่ทำให้งานบรรลุผลตามที่ต้องการโดยใช้ความรู้เป็นฐานหรือเป็นปัจจัยให้งานสำเร็จ
  2. ส่วนกลางลำตัว (Knowledge Sharing – KS) คือส่วนที่เป็นหัวใจได้ให้ความความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะการที่คนเราจะแบ่งปันความรู้ที่มีอยู่ไปให้ผู้อื่นนั้น ต้องอาศัยความผูกพัน การเป็นมิตร ความสนิทชิดเชื้อ ความไว้วางใจ ความห่วงใยต่อกันและกัน กระบวนการนี้จึงต้องเริ่มต้นที่การทำกิจกรรมสร้างความคุ้นเคยก่อนเป็นลำดับแรก และบรรยากาศที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดี ควรเป็นบรรยากาศที่สบายๆ มีความเป็นกันเอง ไม่เกร็ง ไม่เครียด และไม่เป็นทางการมากนัก กลุ่มแลกเปลี่ยนควรเป็นกลุ่มเล็กๆ ควรใช้วิธีการเล่าเรื่อง ที่เกิดขึ้นจริง โดยผลัดกันเล่าความสำเร็จ ความภูมิใจ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องของความสำเร็จต้องเล่าให้ละเอียดว่าเพราะอะไรจึงทำให้ได้รับความสำเร็จ
  3. ส่วนหาง (Knowledge Assets – KA) คือ สร้างคลังความรู้ เชื่อโยงเครือข่าย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ “สะบัดหาง” สร้างพลังจากชุมชนแนวปฏิบัติ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘ถัง’ ที่เรานำความรู้มาใส่ไว้ แล้วใช้ระบบจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่าย และเพื่อผู้ใช้ประโยชน์สามารถเอาไปใช้ได้จริง
ซึ่งความรู้ในคลังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 แบบ ดังนี้
  1. ในลักษณะเรื่องเล่า หรือคำพูดที่เร้าใจ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ เกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งความรู้ในลักษณะนี้ จะเป็นความรู้แบบ Tacit Knowledge
  2. เป็นบันทึกที่ได้จากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้วสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งเป็นความรู้ แบบ Explicit Knowledge
  3. เป็นส่วนที่อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งอยู่ในรูปแบบของเอกสาร การอ้างอิงถึงตัวบุคคล หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่เรียกว่า References
คนสำคัญที่ดำเนินการจัดการความรู้
  1. ผู้บริหารสูงสุด (CEO) สำหรับวงการจัดการความรู้ ถ้าผู้บริหารสูงสุดเป็นแชมเปี้ยน (เห็นคุณค่า และดำเนินการผลักดัน KM) เรื่องที่ว่ายากทั้งหลายก็ง่ายขึ้น ผู้บริหารสูงสุดควรเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมจัดการความรู้
  2. คุณเอื้อ (Chief Knowledge Officer, CKO) ถ้าการริเริ่มมาจากผู้บริหารสูงสุด “คุณเอื้อ” ก็สบายไปเปลาะหนึ่ง แต่ถ้าการริเริ่มที่แท้จริงไม่ได้มาจากผู้บริหารสูงสุด บทบาทแรกของ “คุณเอื้อ” ก็คือ นำ เป้าหมาย/หัวปลา ไปขายผู้บริหารสูงสุด
  3. คุณอำนวย (Knowledge Facilitator , KF) เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ ความสำคัญของ “คุณอำนวย” อยู่ที่การเป็นนักจุดประกายความคิดและการเป็นนักเชื่อมโยง โดยต้องเชื่อมโยงระหว่างผู้ปฏิบัติ (“คุณกิจ”) กับผู้บริหาร (“คุณเอื้อ”), เชื่อมโยงระหว่าง “คุณกิจ” ต่างกลุ่มภายในองค์กร, และเชื่อมโยงการจัดการความรู้ภายในองค์กร กับภายนอกองค์กร โดยหน้าที่ที่ “คุณอำนวย” ควรทำ คือ – ร่วมกับ “คุณเอื้อ” จัดให้มีการกำหนด “หัวปลา” ของ “คุณกิจ” อาจจัด “มหกรรมหัวปลา” เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ “หัวปลา” – จัดตลาดนัดความรู้ เพื่อให้ คุณกิจ นำความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดความรู้ออกมาจากวิธีทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้น เพื่อการบรรลุ “หัวปลา” – จัดการดูงาน หรือกิจกรรม “เชิญเพื่อนมาช่วย” เพื่อให้บรรลุ “หัวปลา” ได้ง่าย หรือเร็วขึ้น
  4. คุณกิจ (Knowledge Pracititoner, KP) หรือผู้ปฏิบัติงาน เป็นพระเอกหรือนางเอกตัวจริง ของการจัดการความรู้ เพราะเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้ประมาณร้อยละ 90-95 ของทั้งหมด “คุณกิจ” เป็นเจ้าของ “หัวปลา” โดยแท้จริง และเป็นผู้ที่มีความรู้ และเป็นผู้ที่ต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ หา สร้าง แปลง ความรู้เพื่อการปฏิบัติให้บรรลุถึง “เป้าหมาย/หัวปลา” ที่ตั้งไว้
  5. คุณประสาน (Network Manager) เป็นผู้ที่คอยประสานเชื่อมโยงเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างหน่วยงาน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงที่กว้างขึ้น เกิดพลังร่วมมือทางเครือข่ายในการเรียนรู้และยกระดับความรู้แบบทวีคูณ

ขอบคุณข้อมูลจาก :

Related Posts