ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งของ Nonaka

ภูเขาน้ำแข็งแห่งความรู้คืออะไร?

Michel Polanyi และ Ikujiro Nonaka ได้กำหนดนิยามความรู้ด้วยการเปรียบเทียบกับภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเราหลายคนคงคุณหูกันดีกับคำว่า “ภูเขาน้ำแข็งแห่งความรู้” ในบทความนี้เราจะอ้างอิงชื่อ Nonaka เป็นหลัก

Nonaka ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ ว่าความรู้ คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร

พบว่า ความรู้มีลักษณะที่ความแตกต่างจากปิรามิดแห่งความรู้ Yamazaki โดย Nonaka ได้เปรียบเทียบความรู้กับรูปภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งจำแนกความรู้ออกเป็น 2 ประเภท

  1. ส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือน้ำมองเห็นได้ชัดเจนเรียกว่า Explicit Knowledge แปลว่าความรู้แจ้งชัด
  2. ส่วนภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถมองเห็นได้ เรียกว่า Tacit Knowledge แปลว่า ความรู้ฝังลึก (ที่อยู่ในตัวคน)
  • Explicit Knowledge (ความรู้แจ้งชัด) คือ ความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล หรือ ความรู้เชิงทฤษฎีที่บันทึกไว้ในสื่อต่างๆ เช่น เอกสารตำรา และคู่มือการปฏิบัติงาน เป็นความรู้ที่ง่ายต่อการอธิบายถ่ายทอด ซึ่งทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงความรู้นั้นได้ง่าย จึงเปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็งส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมามองเห็นได้ชัดเจน มีปริมาณ 20% ของความรู้ทั้งหมดของคนเรา
  • Tacit Knowledge (ความรู้ฝังลึก) คือ ความรู้เชิงประสบการณ์ ที่ซ่อนอยู่ในตัวคน ในลักษณะของความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคลหรือพรสวรรค์ ซึ่งยากแก่การอธิบายถ่ายทอดให้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็สามารถพัฒนาและแบ่งปันกันได้ ด้วยเหตุผลที่เป็นความรู้ที่ซ่อนอยู่ในตัวคน มองเห็นไม่ชัดเจน จึงเปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำซึ่งมองไม่เห็นมีปริมาณ 80% ของความรู้ ทั้งหมดของคนเรา

ความรู้ฝังลึกเป็นประสบการณ์ที่ซ่อนอยู่ในตัวตน ได้แก่

  • ความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ที่ยากต่อการเลียนแบบ
  • พรสวรรค์ เป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัวที่บุคคลอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้
  • เทคนิควิธีของแต่ละคน ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานจนกลายเป็นทักษะความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญ
  • วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ เป็นบทสรุปของเทคนิค วิธีการดำเนินงานที่ดีที่สุดของแต่ละคน ที่ค้นพบจากการทำงาน
  • สูตรเด็ดเคล็ดลับต่างๆ

สัดส่วนของความรู้บนภูเขาน้ำแข็ง

เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของความรู้ทั้ง 2 ประเภท พบว่า ความรู้ในองค์กรที่เป็น Explicit และ Tacit มีอัตราส่วน 20:80

คล้ายกับภูเขาน้ำแข็งที่มียอดภูเขาโผล่พ้นน้ำขึ้นมา เป็นส่วนน้อย (Explicit ประมาณ 20% ของทั้งหมด) เมื่อเปรียบเทียบส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งมีมาก (Tacit ประมาณ 80% ของทั้งหมด)

การเปลี่ยนสถานะระหว่างกันของความรู้ทั้ง 2 ประเภท

ความรู้ที่เป็น Explicit และ Tacit สามารถเปลี่ยนสถานะระหว่างกันได้ ทำให้เกิดการงอกงามของความรู้ กลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ ถ้ามีการจัดการความรู้โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Knowledge Spiral หรือการนำหลักการ SECI Model มาใช้ควบคู่ในการจัดการเรียนรู้ในองค์กร

ดังนั้น องค์กรชั้นนำทั่วโลก จึงเริ่มให้ความสนใจ เรื่อง การจัดการความรู้ของคนในองค์กรมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความรู้เชิงประสบการณ์ที่อยู่ในตัวพนักงาน จึงเริ่มต้นจัดการความรู้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ

  • การออกคำสั่งให้พนักงานทุกคนเขียนเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเทคนิคการทำงานของตนเอง
  • ส่งผู้จัดการบริษัท เพื่อทำให้ Tacit Knowledge ซึ่งเป็นความรู้ฝังลึกในตัวพนักงานได้เปลี่ยนสถานะเป็น Explicit Knowledge หรือกลายเป็นความรู้ที่แจ้งชัด
  • ถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเก็บไว้ในคลังความรู้ขององค์กรให้พนักงานคนอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการทำงาน

สรุป…การจัดการความรู้ เป็นการดึงเอาความรู้ที่กระจัดกระจายที่ฝังอยู่ทั่วองค์กร ออกมารวมและแบ่งกลุ่มจัดเก็บให้เป็นองค์ความรู้ขององค์กร เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยบริหารจัดการเพื่อให้ “คน” ที่ต้องการใช้ความรู้ (Right people) ได้รับความรู้ที่ต้องการใช้ (Right knowledge) ในเวลาที่ต้องการ (Right time) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการทำงาน ฉะนั้นอีกหน้าที่สำคัญของ HR คือการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กรนั้นเอง

ที่มา https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/

https://arriratblog.blogspot.com/p/nonaka.html

รูปภาพ https://www.pexels.com/

https://arriratblog.blogspot.com/p/nonaka.html

Related Posts