ทักษะการโค้ช (Coaching Skill) สำหรับผู้บริหารเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ใต้บังคับบัญชา…

การโค้ช (Coaching) ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด เพียงแต่หลักการของการโค้ช มีความละเอียดอ่อนที่ไม่ช่วยเหลือ ผู้รับการโค้ชโดยตรง เพราะต้องการให้เขาได้ใช้ศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ ซึ่งจะนำไปสู่การลงมือทำด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่การบังคับ แต่ก็ไม่ใช่การโยนปัญหาให้เขาแก้ไขเอง แต่จะอยู่เคียงข้างกันไปตลอดการเดินทาง

 

การโค้ช จึงเป็นการทำงานร่วมกัน หรือประสานกันระหว่าง โค้ช (Coach) และผู้รับการโค้ช ให้ทำงานได้ถึงเป้าหมายที่ต้องการผ่านการคิดค้นด้วยตัวเองภายใต้การแนะนำของผู้ทำการโค้ช ฉะนั้นทักษะการโค้ช (Coaching Skill) ที่ผุ้ทำหน้าที่โค้ชต้องมีและเป็นทักษะที่สำคัญมีดังนี้

  1. ทักษะการสร้างความสัมพันธ์เพื่อสร้างความไว้วางใจและความศรัทธา (Rapport Building for Coaching)

การสร้างความสัมพันธ์เป็นกระบวนที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะเป็นกระบวนการแรกที่จะทำให้ คนสองคนไว้วางใจกัน แล้วมีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างคน 2 คน การสร้างความสัมพันธ์ ในทางการโค้ชนั้นมีเทคนิคและโมเดลมากมาย เช่น VAKAD model, Matching & Mirroring model, lotus model, Pace Pace lead ฯลฯ จุดประสงค์ของการสร้างความสัมพันธ์ เพื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้กับผู้ที่พูดคุยด้วย พร้อมเชื่อใจและเปิดใจให้ความร่วมมือในการโค้ช การคิด และให้ความร่วมมือในการโค้ช หรือการพูดคุยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพูดคุย

สำหรับในการบริหารจัดการนั้น หากหัวหน้า ลูกน้อง มีความแตกต่างกันทางความคิด พื้นเพ การศึกษา สไตล์การทำงาน หรือตอนนี้ ที่เราเรียกว่า มีความแตกต่างระหว่างวัย ระหว่าง Generation ทั้ง Babyboomer, Gen X , Gen Y and Gen Z เมื่อมาทำงานอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อเปิดใจ สร้างความศรัทธา และความไว้วางใจ เพื่อให้สามารถประสานความสัมพันธ์จนทำงานได้อย่างราบรื่น จึงเป็นสิ่งสำคัญค่ะ

  1. ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening skill for Coach)

การฟัง เป็นทักษะการสื่อสาร (Communication skill) ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการทำงานในปัจจุบัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรในปัจจุบันอย่างหนึ่ง คือ หัวหน้าไม่ฟังลูกน้อง หรือฟังแล้วนำไปตีความหรือสื่อสารกันผิดๆ เป็นต้น เช่น

ลูกน้อง : เนี่ยงานเยอะมากเลย จะทำไหวได้อย่างไร

หัวหน้าฟังแล้ว อารมณ์ขึ้น : “ถ้าทำไม่ไหว ก็ลาออกไป” หรือ “ถ้าทำไม่ไหว เดี๋ยวจะหาคนทำไหวมาทำ” ประชดไปอีก

หัวหน้าฟังอย่างลึกซึ้ง ตัดอารมณ์ของตัวเองและอารมณ์ลูกน้องออก : “แล้วต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างไหม” หรือ ” ตรงไหนติดปัญหา ให้ช่วยเหลือไหม”

การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นทักษะที่สำคัญมาก เพราะในกระบวนการโค้ชนั้น โค้ชจะใช้เวลาในการฟังถึง 80% (อีก 20 % สำหรับการถาม,feedback ฯ) การฟังแบบโค้ชจะแตกต่างจากการฟังแบบทั่วไป การฟังแบบทั่วไปจะได้ยินสิ่งที่แสดงออกมา สิ่งที่เขาต้องการให้รู้ในเนื้อหา (Content) แต่การฟังแบบโค้ช ต้องฟังให้ถึงความรู้สึก ความเชื่อ ความคิด สามารถจับประเด็นและได้ยินในสิ่งที่ผู้รับการโค้ชไม่ได้พูดและทวนออกมาได้ (Context) เหมือนกับเป็นกระจกสะท้อนผู้รับการโค้ชได้

ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง นั้นต้องฝึกสติ (Mindfulness) เพื่ออยู่กับโค้ชชี่ในทุกขณะปัจจุบัน การฝึกสติ ต้องฝึกฝนและทำอย่างต่อเนื่อง เพราะ เวลาเราเป็นโค้ช บางครั้งเราจะเผลอ เข้าไปอยู่กับเรื่องราวของโค้ชชี่จนมีอารมณ์ร่วมไปด้วย หรือบางทีเผลอคิดว่าจะถามอะไรต่อไปดี หรือไม่อยู่กับโค้ชชี่ ณ ขณะนั้น เพราะการฟังอย่างลึกซึ้งนั้น เราไม่ได้ฟังแค่เสียงของโค้ชชี่เท่านั้น แต่เรายังฟังภาษาร่างกาย และเสียงที่ไม่ได้พูดอีกด้วย

  1. ทักษะการถาม (Questioning skill for coach)

การถามทำให้เกิดกระบวนการคิด ตรึกตรอง และค้นหาคำตอบ การถามจึงเป็นการกระตุ้นความคิด เมื่อเกิดการฝึกฝนคิดบ่อยๆเข้าผู้ที่ถูกถามจะสามารถคิด และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง คำถามที่ดีควรเป็นคำถามปลายเปิด (Open Question) เพื่อให้ผู้ถูกถามได้แสดงความคิดเห็น เช่น ถามว่า ในเรื่องนี้คุณคิดว่า ควรแก้ไขอย่างไรบ้าง? คำถามนี้สามารถดึงความคิดเห็นออกมาได้ แต่ถ้าเป็นคำถามปลายปิด (Close question) จะทำให้จำกัดความคิด ของโค้ชชี่ได้

 

ตัวอย่างคำถามปลายปิด

หัวหน้า : ผมคิดว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นควรแก้ไขโดยวิธี…(ความคิดของหัวหน้า)…คุณเห็นด้วยหรือไม่

ลูกน้อง : (ตอบคำถามปลายปิด) “จะตอบอะไรได้ นอกจากว่า “เห็นด้วย” ทั้งที่ในใจอาจจะมีวิธีอื่นที่คิดว่าดีกว่า

ตัวอย่างคำถามปลายเปิด

หัวหน้า : จากปัญหาที่เกิดขึ้นควรแก้ไขโดย คุณคิดว่ามีวิธีการแก้ไขแก้ไขอย่างไรบ้าง?

ลูกน้อง : ผม/ดิฉัน คิดว่า น่าจะแก้ไขดังนี้ค่ะ 1…, 2….3….

คำถามปลายเปิด คนเป็นหัวหน้า อาจจะได้คำตอบที่ให้วิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ นอกเหนือจากความรู้ความสามารถของตัวเองก็ได้ ลูกน้องก็จะได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองคิด และได้รับการยอมรับจากหัวหน้าด้วย

  1. ทักษะการให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback)

การให้ข้อมูลย้อนกลับหรือ feedback นั้น ไม่ใช่การด่า หรือบ่นแต่อย่างใด แต่เป็นการให้ข้อมูลกับผู้ปฏิบัติงานหรือลูกน้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น หลักการให้ข้อมูลย้อนกลับนั้น จะมีส่วนประกอบ ที่สำคัญ 3 ส่วนคือ

– ส่วนของพฤติกรรม,

– ส่วนของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และ

– ส่วนที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงหรือชื่นชม

  1. ทักษะอื่นๆ เช่น การเล่าเรื่อง (Story telling) การจูงใจ (Motivation) และการสื่อสาร (Communication) เป็นต้น

จากเนื้อหาคร่าวๆ ทั้งหมดนี้ หวังว่าพอจะทำให้ได้ไอเดีย ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบทบาทหน้าที่ของผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างานกันได้ไม่มากก็น้อย เพราะการโค้ช (Coaching) หรือการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) เป็นหน้าที่ที่จำเป็นและสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ในองค์กรได้อย่างดี รวมทั้งสามารถพัฒนาความสามารถของทีมในการปฏิบัติงานให้ได้ตามเป้าหมายขององค์กร และยังเป็นการพัฒนาตัวเอง สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและองค์กรได้อีกด้วย…

ที่มา https://www.sasimasuk.com/16657170/ โดยศศิมา สุขสว่าง

รูปภาพ https://www.pexels.com/

Related Posts