Active Learning แนวทางในการเรียนรู้อย่างเข้าใจลึกซึ้งและรวดเร็ว

ในโลกที่ทุกอย่างเร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ความต้องการในการสร้างผลลัพธ์ของการทำงานก็ต้องเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน ก็เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รอไม่ได้ การทำงานก็เลยต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วด้วยเช่นกัน พอทุกอย่างมันเร็วขึ้น เราก็เริ่มคาดหวังว่า แล้วคนเราจะเรียนรู้ให้เร็วขึ้นได้อย่างไร

เคยลองประเมินตนเองบ้างหรือไม่ครับว่า เราเองเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้นหรือไม่อย่างไร เช่น อ่านหนังสือ ได้เร็วขึ้น เข้าใจได้เร็วมากขึ้น ฟังและจับประเด็นต่างๆ ได้เร็วขึ้น สร้างและปรับปรุงทักษะในการทำงานได้เร็วขึ้นหรือไม่

ถ้าเราสามารถเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็วขึ้น เราก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ได้เร็วมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น แนวทางในการเรียนรู้แบบ Active Learning ก็เลยเกิดขึ้นและมีการพยายามนำมาปรับใช้ในการเรียนรู้ของพนักงานในองค์กรมากขึ้น

จริงๆ Active Learning เกิดขึ้นมานานแล้วเหมือนกัน แต่ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก จนกระทั่งสภาพแวดล้อมในการทำงานของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เร็วจนต้องหาทางพัฒนาตนเอง และพนักงานในองค์กรให้เร็วขึ้น ก็เลยมีความคิดที่จะนำเอา Active Learning เข้ามาใช้ในการพัฒนาพนักงานในองค์กร แนวคิดของ Active Learning ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

  • Iteration with real-time feedback ให้มีการทำซ้ำๆ โดยที่มีการให้ Feedback จากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นอย่างสม่ำเสมอ ไอเดียเรื่องนี้เกิดจากการพยายามที่จะสร้างทักษะใหม่ๆ เช่น การเล่นเปียโน หรือเครื่องดนตรีอื่นๆ ถ้าอยากเก่งให้เร็ว ต้องฝึกซ้ำๆ ในบทเรียนเดิม ให้คล่อง และให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ Feedback การเล่นตรงนั้นในทันที เพื่อปรับปรุงในแต่ละจุดที่ยังบกพร่องอยู่ ซึ่ง เราก็สามารถนำแนวทางนี้มาใช้ในการพัฒนาทักษะในการทำงานของพนักงานเช่นกัน แทนที่จะส่งไปอบรมแล้วจบ ซึ่งก็จะไม่ได้ทักษะอะไร เพราะทักษะจะเกิดขึ้นจากการฝึกฝนทำซ้ำบ่อยๆ ดังนั้น ถ้าเราต้องการให้พนักงานมีทักษะใหม่ๆ เร็วขึ้น ก็ต้องให้เขาทำซ้ำๆ ให้คล่อง และมอบหมายบทเรียนที่ยากขึ้นเพื่อให้ได้ฝึก และเราก็ต้องสังเกต และให้ Feedback แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ
  • Concise mental models เป็นเรื่องของการกำหนดแนวทางในการเรียนรู้ของคน เนื่องจากคนแต่ละคนมีวิธีการในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การที่เราจะทำให้พนักงานเรียนรู้ได้เร็วขึ้น เข้าหัวได้มากขึ้น ก็ต้องมีการศึกษาวิธีการเรียนรู้ของพนักงานแต่ละคนอย่างชัดเจน ศึกษาธรรมชาติของสมอง การทำงานของสมอง และดูว่า แต่ละคนถนัดในการเรียนรู้และจดจำได้อย่างไร บางคน ชอบที่จะฟัง บางคนชอบอ่าน บางคนต้องลงมือทำถึงจะเรียนรู้ได้ บางคนชอบเรียนรู้แบบสั้นๆ แต่ถี่ๆ บางคนนั่งเรียนทั้งวันได้ ฯลฯ ดังนั้น เราต้องออกแบบวิธีการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแนวทางในการเรียนรู้ของพนักงานแต่ละคนให้ได้
  • Multiple learning styles จัดให้มีวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องเดียวกัน เช่น การใช้รูปภาพ การใช้เกม การใช้เรื่องราวตัวอย่างจริง มาประกอบ ซึ่งในทางธุรกิจเราสามารถออกแบบวิธีการเรียนรู้ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ Coaching การมอบหมายงานให้ลองทำ การไปดูงานจริง เพราะการจัดให้มีวิธีการเรียนรู้ในลักษณะที่แตกต่างกันนี้จะทำให้คนเรียนได้ฝึกคิด และเห็นภาพของจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงสามารถมองเห็นปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้จริงอีกด้วย
  • Learning in Team จัดทีมในการเรียนรู้ โดยให้มีการพูดคุย หารือ ระดมสมอง ในเรื่องที่เรียน เพื่อให้แนวทางที่ดีที่สุด หรือเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาจริงในการทำงาน หรือเป็นกรณีศึกษาในเรื่องนั้นๆ การเรียนรู้เป็นทีม จะช่วยทำให้สมาชิกแต่ละคนมองเห็นมุมมองของคนอื่น เป็นการเปิดโลกทัศน์ของตนเองให้กว้างขึ้น ทำให้เรารู้ว่าคนอื่นคิดอย่างในเรื่องเดียวกัน และมีเทคนิคอย่างไรในการเรียนรู้และแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ของคนในทีมให้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
  • Frequent comparison จัดให้มีการเปรียบเทียบแง่มุมต่างๆ ของสิ่งที่เรียนรู้กันอยู่ เพื่อวิเคราะห์ว่า อันไหนดีกว่า อันไหนใช่มากกว่า อันไหนถูกต้องมากกว่า หรือเหมาะสมมากกว่าในสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกันไป เพราะการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ที่อาจจะมีความใกล้เคียงกัน จะช่วยในเรื่องของการวิเคราะห์ของคนเราได้ดีขึ้น และช่วยพัฒนาทักษะในการตัดสินใจของคนเราได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การสร้างทางเลือก หรือให้ทีมงานสร้างทางเลือกขึ้นมา แล้วเอามาเปรียบเทียบกันกับเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเลือกวิธีที่ดีที่สุด จึงเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้จากของจริงได้มากขึ้น และดีขึ้น
    แนวทาง Active Learning ข้างต้น ผมนำมาจากบทความชื่อ Innovation for Impact ซึ่งเขียนโดย Curtis R. Carlson ในนิตยสาร Harvard Business Review ฉบับเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2020

ถ้าท่านอ่านและศึกษาแนวทางแบบ Active Learning จริงๆ จะเห็นว่า เป็นวิธีที่จะช่วยให้พนักงานของเราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้ดีขึ้นกว่าวิธีการแค่เพียงการส่งพนักงานไปอบรม แล้วก็จบ แต่ไม่ได้อะไรกลับมาอย่างที่เราต้องการ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตัวช่วยที่จะทำให้พนักงานของเราเรียนรู้ได้ง่าย และรวดเร็ว พร้อมสามารถสร้างแบบทดสอบเพื่อวัดผลได้ ก็คือ Application SeedKM ตอนนี้มีให้ใช้งานได้ฟรีอีกด้วย

ลงทะเบียนใช้งานฟรี คลิก : http://www.seedkm.com/register/

 

ที่มา : Prakal’s Blog: HR Knowledge Community

Related Posts